หลังจากที่เราได้ทำความรู้จักกับ Panic Disorder ไปในบล็อกโพสต์ก่อนหน้า คราวนี้นักเขียนรับเชิญคนเดิมของเราจะมาเล่าต่อว่า หลังจากหมอเคาะมาแล้วว่าเธอไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เกิดอะไรขึ้นต่อจากนั้น แล้วแพนิคมันไปไกลกว่าเรื่องของจิตใจจนกระทบการใช้ชีวิตได้อย่างไร มาอ่านต่อกันเลย!
STORY BY PLENG TASSANAPAK
I’M PANIC AND IT’S NOT OK
เราได้รับการฟันธงว่าเป็น Panic Disorder หลังจากที่เราได้ไปตรวจโรคหัวใจมาเกือบเดือน ในช่วงหนึ่งเดือนให้หลังนั้นเรามีอาการเจ็บ แน่นหน้าอก อยู่บ่อยๆ แรกๆ มันจะหายไปเอง แต่ช่วงหลังมาเจ็บเป็นอาทิตย์เลยก็มีโดยที่ไม่ได้มีอาการอื่นร่วม พักหลังๆ เราเริ่มสังเกตตัวเองว่า ถ้าเราขึ้นรถหรือไปไหนโดยรถติดเราจะรู้สึกหายใจไม่ออก แม้กระทั่งเดินห้างในที่ๆมีคนเยอะเราก็รู้สึกอึดอัดจนต้องนั่งพัก แรกๆ เราไม่รู้ว่าทำไมเราถึงเป็น จนเรามาเป็นหนักสุดๆ ก็คือไม่อยากเดินขึ้นลงบันไดเลยเพราะเหนื่อยและเริ่มรู้สึกกลัวที่แคบตอนอยู่ในลิฟท์ด้วย วันหนึ่งก่อนที่เราจะออกไปทำงาน เช้าวันนั้นใจเราเริ่มเต้นรัวตั้งแต่ตอนอาบน้ำ เราก็พยายามไม่คิดอะไรมากเพราะเราไปตรวจมาหมดแล้ว แต่หลังอาบน้ำแต่งตัวเสร็จหัวใจเรามันค่อยๆเต้นเร็วขึ้นเรื่อยๆ ไม่หยุด เราเลยเริ่มจับชีพจรตามคุณหมอบอกดู ปรากฏว่ามันเริ่มเกิน 100 ครั้ง/นาที ไปแล้ว เราเจ็บหน้าอกขึ้นมากและรู้สึกเดินต่อไปอีกไม่ไหว บอกกับตัวเองแค่ว่า เรายังไม่อยากตายนะ ขอร้อง อย่าให้เราตายเลย
เราตะโกนร้องเรียกพ่อสุดเสียง พ่อเรารีบพาไปโรงพยาบาลทันที ระหว่างทางที่รถติดเป็นแถวยาวเหยียด เราใจเต้นเร็วขึ้นมากกว่าเดิม จนไม่รู้สึกอะไรอีก แขน ขา เราเริ่มชา ไม่ใช่เหน็บชานะ แต่ชาแบบไม่รู้สึกอะไรเลย เราพยายามตีตัวเอง ตีแล้วตีอีกก็ไม่รู้สึกเจ็บ นิ้วมือนิ้วเท้าเราเริ่มบิดงอเข้าหากัน มือเริ่มจีบ พยายามเหยียดเท่าไหร่ก็ไม่ออก เราร้องไห้จนรู้สึกหายใจไม่ออก (ที่จริงมันยังหายใจได้) หน้าและปากเริ่มชา กรามแข็ง แต่สติยังอยู่ครบรับรู้หมดทุกอย่าง คิดว่าจะตายแล้วนะตอนนั้น แต่ก็ไม่ พอถึงโรงพยาบาลคุณหมอที่เคยตรวจโรคหัวใจให้เรามาดูแล้วก็สั่งฉีดยาให้เรา คุณหมออธิบายให้ฟังตอนเราหายแล้วว่า อาการที่เป็นคือ Hyperventilation Syndrome
อาการ Hyperventilation คือภาวะที่ร่างกายหายใจเอาออกซิเจนมากเกินไปจนขาดคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ทำให้เกิดอาการเกร็งแบบข้างต้น คุณหมอบอกว่าพอหัวใจเต้นเร็วเราก็ตกใจ กลัวหายใจไม่ออก ทำให้เราพยายามหายใจเข้าไปเยอะๆ พอหายใจถี่ขึ้นมากๆก็เลยเป็น Hyperventilation ขึ้นมา วิธีแก้คือให้เอาถุงครอบจมูกและปาก พยายามหายใจให้ช้าลงเพื่อให้สารเคมีในเลือดกลับมาสมดุล (**ทั้งนี้อาการนี้อาจคล้ายกับโรคหอบหืด, ภาวะเลือดเป็นกรดจากเบาหวาน และภาวะหัวใจขาดเลือด โดยหมอจะต้องเป็นผู้วินิจฉัย**)
เราได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น Panic Disorder และเข้ารับการรักษากับแผนกจิตเวชของโรงพยาบาล โดยมีคุณหมอที่มารับช่วงต่อเป็นจิตแพทย์อธิบายให้ฟังว่า Panic Disorder นั้น เกิดจากการที่เรามีความเครียด ความกดดัน ความวิตกกังวลสะสม จนสิ่งเหล่านี้อยู่ในจิตใต้สำนึกของเราโดยที่เราไม่รู้ตัวสารเคมีและสารสื่อประสาททำงานได้ผิดปกติไป จึงแสดงออกโดยผ่านอาการทางกาย ไม่ว่าจะเป็น ใจเต้นเร็ว เจ็บแน่นหน้าอก มือเท้าชา และรู้สึกเหมือนจะตายให้ได้ เพราะเราควบคุมร่างกายไม่ได้เวลามีอาการ นี่คือความทรมานที่สุดของคนที่เป็นแพนิค คนเป็น Panic Disorder จะรู้สึกว่าตัวเองจะตายเมื่อไหร่ก็ได้และในส่วนลึกของจิตใจจะคอยระวังความตายตลอดเวลา ง่ายๆ คือรู้สึก insecure มากถึงมากที่สุด เพราะอาการจะกำเริบตอนไหนก็ได้ การเป็นแพนิคนั้นไม่อันตรายถึงชีวิต เป็นแล้วไม่ตายแน่นอน แต่จะส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนเป็นแพนิคให้ทำสิ่งต่างๆยากขึ้น
HEY! PANIC ISN’T FUNNY
อาการอื่นๆนอกจากอาการทางกายที่เล่าไปแล้ว คือ คนเป็นแพนิคจะรู้สึกกังวลและระวังมากเวลาทำสิ่งต่างๆหรือไปไหนมาไหน บางคนไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้เลยเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่มั่นใจที่จะเผชิญสถานการณ์คนเดียว ยกตัวอย่าง บางคนจากที่เคยขับรถได้ก็ขับไม่ได้อีก กลายเป็นต้องมีคนขับให้ ในบางคนที่ยังพอไหวก็ขับเองแต่ต้องมีคนนั่งไปเป็นเพื่อนตลอด เป็นต้น กรณีของเราคือเรากลัวที่แคบกับที่แออัดเช่น รถไฟใต้ดิน เครื่องบิน เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเราเป็นอะไรขึ้นมา เราจะหาทางออกไปไม่ได้ สำหรับเราเวลาจะไปไหนนอกบ้าน เราต้องมั่นใจว่า 1. ใกล้โรงพยาบาล 2. ต้องมีคนไปเป็นเพื่อน หนักไปกว่านั้นคือเวลามีอาการทีไรเราจะรีบตรงดิ่งไปโรงพยาบาลทันที คือเป็นเมื่อไหร่ขอปลอดภัยไว้ก่อนนั่นแหละ มันอาจดูเป็นพฤติกรรมตลกในสายตาคนอื่น แต่เชื่อเราเถอะ ถ้าคุณเป็นจริงๆคุณจะรู้ว่ามันไม่ขำเลยสักนิด น่าแปลกใจ(รึเปล่า?)ที่พอเราเล่าให้ใครหลายๆคนฟัง ถ้าไม่ใช่คนที่สนิทกันก็มักจะได้รับปฏิกิริยาสองแบบกลับมาคือ…
1. “เฮ้ยแก! มันมีโรคอะไรแบบนี้ด้วยหรอ?” หรือ “เพิ่งเคยได้ยินอ่ะ หมอตรวจดีแล้วหรอ? แกไปตรวจมาใหม่มั้ย? ไปตรวจหลายๆที่ดีมั้ย?” อันนี้พอได้ยินแล้วก็ต้องขอบคุณที่เป็นห่วง แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่าอาการทางจิตเวชมีคนเป็นเยอะมากจริงๆในสังคม ซึ่งในสังคมไทยอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยสำหรับการรักษากับจิตแพทย์ และแพนิคก็เป็นหนึ่งในกลุ่มอาการที่ต้องรักษาเช่นกัน หากคุณมีคนรู้จักหรือใครก็ตามที่มีพฤติกรรมแบบที่เราเขียน ขอให้เข้าใจพวกเขาให้มากๆเพราะการใช้ชีวิตประจำวันแต่ละวันที่ผ่านไปของคนเป็นแพนิคนั้นไม่ง่ายเลย
2. “จะกลัวอะไรอ่ะ ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัวเลย แกคิดมากไปเองรึเปล่า?” หรือ “ฮ่าๆๆ เป็นหนักนะเนี่ย” จะบอกว่าไงดี คือคนเป็นแพนิคไม่ได้คิดเองเออเองหรือมโนไปเองหรอก แต่เพราะว่าเขาเคยเผชิญสถานการณ์ที่เขากลัวมากที่สุดและไม่คิดว่าจะผ่านมันมาได้ต่างหาก ไม่งั้นจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นแพนิคทำไม ข้อเท็จจริงก็คือ ความกลัวของคนเป็นแพนิคก็คือการกลัวว่าจะเป็นแพนิคซ้ำอีกน่ะสิ
LET’S GET TREATED
การรักษาแพนิคมักจะต้องใช้เวลารักษาระยะยาวประมาณ 1-2 ปี โดยระหว่างนี้จะมีการปรับเพิ่มลดโดสยาตามอาการ นอกจากนี้ยังมีการรักษาโดยการทำจิตบำบัดหรือคล้ายกับการสะกดจิตซึ่งไม่ได้บังคับว่าทุกเคสต้องทำ เพียงแต่เป็นตัวเลือกเพิ่มเติมให้ควบคู่ไปกับการกินยาเพื่อให้การรักษาดียิ่งขึ้น ในครั้งนี้เราจะขอเขียนถึงการรักษาโดยการกินยาก่อน ส่วนการรักษาจิตบำบัดเรากำลังอยู่ในระหว่างการทดลองรักษาอยู่ หากเป็นยังไงจะมาเล่าอีกที การทำจิตบำบัดต้องทำพร้อมกับนักจิตวิทยาที่เรียนมาเฉพาะหรือคุณหมอที่เรียนด้านจิตบำบัดมาเท่านั้น ยังไงก็ตามการทำจิตบำบัดอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน คือลองแล้วมันอาจเวิร์คกับเราหรือไม่เวิร์คก็ได้
การกินยาของคนมีอาการแพนิค เราขออธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นคือ จะมียาอยู่สองกลุ่ม ได้แก่ ยาต้นน้ำ และยาปลายน้ำ
1. ยาต้นน้ำ หรือ ยาเสริมสารสื่อสารประสาทในสมอง ยากลุ่มนี้จะใช้แก้ต้นเหตุของคนเป็นแพนิคซึ่งก็คือการมีสารสื่อประสาทที่ผิดปกติไป ยากลุ่มนี้จะช่วยเพิ่มสาร Serotonin ให้กับสมองมากขึ้น สาร Serotonin จะมีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ความรู้สึก อุณหภูมิร่างกาย การนอนหลับ ฯลฯ หากร่างกายมีสารตัวนี้เพียงพอจะทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สงบ รู้สึกมั่นคงทางอารมณ์มากขึ้น ยากลุ่มนี้เป็นกลุ่มเดียวกันกับที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้า ได้แก่ Zoloft, Lexapro, Prozac เป็นต้น เราเองไม่ได้กินสามตัวนี้แต่กินตัวอื่นแทน เนื่องจากเราทนผลข้างเคียงของมันไม่ไหว (สามารถถามหมอหรือหาอ่าน side effect ของยาแต่ละตัวได้ตามเว็บไซต์ยานะ) เรื่องผลข้างเคียงนี้แล้วแต่คน บางคนอาจจะถูกกับยาตั้งแต่แรกที่กินเลย แต่บางคนก็อาจจะหายาที่เหมาะยากหน่อย การกินยาต้องอยู่ในโดสที่เหมาะสมซึ่งคุณหมอจะเป็นคนกำหนดให้ เราต้องกินตามคุณหมอสั่งอย่างเคร่งครัด ห้ามหยุดยาเพิ่มยาเองเด็ดขาดนะ อันตรายมาก เพราะจะมีผลต่อการปรับเพิ่มลดสารสื่อประสาทในร่างกาย อีกอย่างคือถ้าทานยาตัวไหนแล้วรู้สึกไม่ดีตั้งแต่ครั้งแรกก็ให้หยุดแล้วปรึกษาหมอดูนะ ยากลุ่มนี้จะไม่แสดงผลทันที แต่จะใช้เวลาประมาณ 2-3 อาทิตย์ถึง 1 เดือนเป็นต้นไป
2. ยาปลายน้ำ หรือ ยาคุมอาการ ยากลุ่มนี้จะทำหน้าที่คลายอาการวิตกกังวล คลายอาการตึงเครียด ได้แก่ Clorazepate (Tranxene), Lorazepam (Ativan) แต่ผลข้างเคียงยากลุ่มนี้ส่วนใหญ่มักจะทำให้เรารู้สึกง่วงนอนและลดประสิทธิภาพการทำงานของเรา ทำให้เราซึมๆมึนๆได้ ยากลุ่มนี้มักจะออกฤทธิ์สั้นๆ ประมาณ 3-4 ชั่วโมง แต่ก็ขึ้นอยู่กับโดสยาที่ได้รับด้วย
การได้รับยามาแต่ละครั้งให้ถามคุณหมอให้ชัดเจนว่าแต่ละตัวทำหน้าที่อะไร มีผลข้างเคียงยังไงบ้าง และต้องปรึกษาหมอทันทีหากมีอาการที่เรารู้สึกทนไม่ไหว ถ้าทานยาอื่นอยู่ด้วยก็ให้แจ้งหมอก่อนทุกครั้งนะ ห้ามลืม เพราะยาอาจจะตีกันได้ ในหัวข้อนี้เราไม่ได้ยกตัวอย่างชื่อยามากนะเพราะเอาจริงๆเราก็รู้ไม่เยอะ เรารู้เท่าที่เราปรึกษาหมอมา ยังไงแต่ละคนก็ได้ยาไม่เหมือนกันก็ให้ถามหมอก่อนทุกครั้งนะ แต่การรักษาโดยทั่วไปก็จะต้องได้รับยาสองกลุ่มนี้แหละ
หลังจากการรักษาช่วงปีสองปีแรกคุณหมออาจจะถอดยาออกหมดซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของคนไข้อีกที แต่ต้องรู้ไว้ว่าอาการแพนิคยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกบ้างนานๆทีนะไม่ต้องตกใจไป เราต้องมีกำลังใจเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันและควบคุมอาการไม่ให้เป็นหนักเท่าเดิมนะ 🙂
5 Comments
BELL
ขอบคุณมากนะคะที่แชร์เรื่องนี้ เพิ่งเป็นโรคนี้ค่ะ ช่วงนี้หมอให้กินยาต่อเนื่องอยู่ หมอบอก น่าจะ 2-3 เดือน แต่นี่คุณต้องกินเป็นปีเลยหรอคะ การหาหมอจิตเวชไม่สามารถเบิกประกันได้ แย่ตรงนี้หละค่ะ ยังไงจะสู้สู้ค่ะ ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ^^
ปล่อยวาง โล่งว่าง เบาสบาย
สาธุ สาธุ
ขอบคุณในวิทยาทาน
ช่างมีจิตเมตตาธรรม
ขอให้ท่านมีจิตใจที่เข้มแข็ง
หายเร็วๆ ใช้ชีวิตได้เป็นปกติสุข
ตลอดไป
Meow
ขอบคุณนะคะ กำลังศึกษาอยู่เลย…เพิ่งเป็น…เป็นหนักแบบขยับตัวไม่ได้…ทรมานมากค่ะ .ตอนนี้ได้รับยาแล้ว …พยุงอาการต่อไป
PAT
ชอบบทความนะคะ อยากรู้จัก คือ เคยทานยาคล้ายๆกัน และเราเป็นนักแปลอิสระ เหมือนกัน
BL
เราก็เป็นคะ ตอนนี้กลับมากินยาอีกหลังจากหยุดกินไปแล้ว1ปี อาการกำเริบ หายใจไม่ออก กลัวที่แคบมืด ไม่ชอบเดินห้างหรือที่ไหนที่มีคนเยอะๆจะรู้สึกอึดอัด มันทรมานมากๆคะ